ครม. ไฟเขียว เรียกรถผ่านแอปพลิเคชันถูกกฎหมาย ให้คิดค่าโดยสารไม่เกินอัตราแท็กซี่

 

ครม. ไฟเขียวร่างกฎกระทรวง อนุมัติรถส่วนบุคคลบริการโดยสารสาธารณะผ่านแอปฯ เตรียมประกาศใช้ไม่เกิน ก.ค. นี้ กำหนดค่าโดยสารไม่เกินอัตราแท็กซี่

วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. … โดยหลังจาก ครม. อนุมัติและมีการประกาศกฎกระทรวงเรียบร้อย จะมีการจัดทำประกาศตามกฎกระทรวงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เบื้องต้นคาดว่าประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ปลายเดือนมิถุนายน หรือไม่เกินกรกฎาคมนี้

สำหรับเหตุผลและความจำเป็นของการออกกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันการให้บริการการเดินทางโดยการเรียกใช้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นที่นิยมของประชาชน ซึ่งรถยนต์ที่นำมาให้บริการบางส่วนยังไม่สามารถนำมาจดทะเบียนได้ตามประเภทที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น จึงเห็นสมควรกำหนดให้มีรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นอีกแบบหนึ่งของรถยนต์รับจ้าง เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับประชาชน และส่งเสริมให้ผู้ขับรถยนต์ดังกล่าวสามารถประกอบอาชีพได้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

รถต้องอายุไม่เกิน 9 ปี – ต้องทำประกันคุ้มครองผู้โดยสาร

ขณะที่ ไทยโพสต์ รายงานว่า รายละเอียดในการดำเนินการของรถยนต์ส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเปลี่ยนประเภทเป็นรถยนต์รับจ้างนั้นจะใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคลเดิม โดยให้นายทะเบียนเปลี่ยนประเภทการจดทะเบียนเป็นรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในใบคู่มือจดทะเบียนรถ ขณะที่ตัวรถจะต้องมีอายุใช้งานได้ไม่เกิน 9 ปี แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. ขนาดเล็ก (เครื่องยนต์ 50-90 kW) เช่น มาร์ช, วีออส, ซิตี้, มิราจ เป็นต้น

2. ขนาดกลาง (เครื่องยนต์ 90-120 kW) เช่น อัลติส, ซีวิค เป็นต้น

3. ขนาดใหญ่ (เครื่องยนต์มากกว่า 120 kW) เช่น แอคคอร์ด, ฟอร์จูนเนอร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ รถจะมีลักษณะเป็นรถเก๋ง แวน สองตอนหรือสามตอนก็ได้ โดยจะต้องมีการทำประกันภัยเพิ่มเติมคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้โดยสาร และติดเครื่องหมายแสดงการใช้แอปพลิเคชันด้วย

คนขับต้องมีใบขับขี่สาธารณะ

ส่วนของคนขับรถ กำหนดให้จะต้องมีใบขับขี่สาธารณะ และผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และใช้แอปพลิเคชันของผู้ให้บริการแอปพลิเคชันที่ผ่านการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก

ลิมิตอัตราค่าโดยสาร

ขณะที่ อัตราค่าโดยสาร จะแบ่งเป็น รถขนาดเล็ก, กลาง มีค่าโดยสารไม่เกินอัตราของรถแท็กซี่ในปัจจุบัน ด้านรถขนาดใหญ่ มีค่าโดยสารไม่เกินอัตราของรถแท็กซี่ VIP ในปัจจุบัน โดยสามารถมีค่าบริการเพิ่มเติมกรณีอื่นได้ แต่ต้องไม่เกิน 200 บาท

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจไทยโพสต์

ภาพ : Yaoinlove / Shutterstock.com / ผู้จัดการ