“ลาดพร้าว” วิกฤตอีก 2 ปี เหลือง-ชมพู ก่อสร้างสะดุด!

 

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการด้านวิศวกรรมและฝ่ายก่อสร้าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความคืบหน้างานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม.

หลังจาก บจ.อีสเทิร์น บางกอก โมโนเรล ของกลุ่ม BSR (บีทีเอส-ซิโนไทย-ราชกรุ๊ป) ผู้รับสัมปทานโครงการเริ่มงานก่อสร้างวันที่ 29 มิ.ย. 2561 ผลงาน ณ เดือน ม.ค. 2563 งานโยธาอยู่ที่ 51.81% ช้าจากแผนประมาณ 5% งานระบบอยู่ที่ 47.39% ตามแผนงานโยธาจะต้องสร้างเสร็จปลายปี 2563 จากนั้นเริ่มทดสอบระบบ ซึ่งรถขบวนแรกจะมาถึงประเทศไทยในเดือน ส.ค.นี้ และตามสัญญาต้องแล้วเสร็จเปิดบริการในเดือน ต.ค. 2564


“อยู่ที่เอกชนจะเร่งงานได้เร็วแค่ไหน สร้างช้าติดเข้าพื้นที่ไม่ได้ตามแผน ทั้งเวนคืน รื้อสาธารณูปโภค พื้นที่สายสีเหลืองเสี่ยงทุกจุด เหลือเคลียร์สะพานบางกะปิหน้าเดอะมอลล์ต้องเร่งให้จบ หากยังช้าจะกระทบต่อโครงการได้”

ทั้งนี้ บีทีเอสส่งแบบให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) พิจารณาแล้ว จะเป็นการโมดิฟายสะพานเดิม ปรับปรุงช่วงเชิงสะพานถึงแยกบางกะปิที่จะเลี้ยวไปลำสาลี จะปิดการจราจรเฉพาะช่องขวาสุดทั้งขาเข้าและขาออก แล้วรื้อตรงกลางออกให้วางตอม่อได้ และขยายปีกสะพานด้านข้างออกให้กลับมามี 4 ช่องจราจรเหมือนเดิม

กทม. ยื้อแบบสะพานบางกะปิ

“งบฯก่อสร้างบีทีเอสเป็นผู้ลงทุน รอ กทม.อนุมัติแบบ ซึ่ง กทม.จะให้ทุบแล้วสร้างใหม่ จะกระทบจราจรถนนลาดพร้าวติดหนักขึ้น เพราะต้องใช้เวลาสร้างอย่างน้อย 1-2 ปี และย่านนั้นจะมีแยกลำสาลีที่กำลังสร้างอุโมงค์สายสีส้มอีก”

แหล่งข่าวจาก รฟม.กล่าวว่า ค่าก่อสร้างบริเวณแยกบางกะปิ บีทีเอสยังไม่ได้ประเมินไว้ คาดว่าจะทำให้ต้นทุนก่อสร้างเพิ่มไม่มาก คงไม่ถึง 500 ล้านบาท แต่ที่หลายฝ่ายเป็นห่วงเรื่องการจราจรจะทำให้รถติดมากขึ้น เพราะเกี่ยวเนื่องไปถึงแยกลำสาลีซึ่งงานอุโมงค์สายสีส้มกว่าจะเสร็จปลายปี 2564

“ผลทดสอบการรับน้ำหนักสะพานบางกะปิยังแข็งแรงในระดับหนึ่ง คงไม่ถึงต้องทุบสร้างใหม่ตามที่ กทม.ต้องการ เพราะผลกระทบต่อสายสีเหลืองจริง ๆ แค่พื้นที่ครึ่งสะพาน แต่ กทม.จะให้เราทุบแล้วสร้างใหม่”

กระทบแผนเปิดหวูด
แหล่งข่าวกล่าวว่า ประเมินผลกระทบการส่งมอบพื้นที่ของสายสีเหลือง มีโอกาสจะเปิดให้บริการล่าช้าจากเดิมเดือน ต.ค. 2564 เป็นในปี 2565 เพราะตามแผนงานก่อสร้างต้องเสร็จปลายปีนี้ ขณะที่ขบวนรถจะทยอยมาถึงปีนี้ เริ่มทดสอบระบบต้นปี 2564 จะใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน

“สัญญาร่วมทุนให้ทยอยเปิดและเก็บค่าโดยสารได้ หากสร้างช้าจากเหตุสุดวิสัยหรือรัฐมอบพื้นที่ไม่ได้ ต้องหารือเอกชนจะทยอยเปิดก่อนหรือไม่ เพราะมีค่าบริหารจัดการ อาจจะไม่คุ้ม ส่วนสัญญาก่อสร้างหากล่าช้าจากรัฐจะขยายเวลาให้ ส่วนค่าใช้จ่ายที่เพิ่ม เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ เอกชนรับผิดชอบทั้งหมด”

ทุบสร้างใหม่ปิดจราจร 6 เดือน
นายไทวุฒิ ขันแก้ว รักษาการผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. เปิดเผยว่า ได้พิจารณาคอนเซ็ปต์รูปแบบแก้ปัญหาจุดทับซ้อนสะพานบางกะปิกับสายสีเหลืองจบแล้ว จะทุบบางส่วนแล้วสร้างใหม่ ให้ได้มาตรฐานที่สูงขึ้น เช่น รับแรงลมและแผ่นดินไหว จะเพิ่มภาระต้นทุนให้เอกชน ทางบีทีเอสจะเป็นผู้สร้างคืนให้ โดยรื้อเฉพาะบริเวณเชิงสะพานถึงทางแยก แต่ยังไม่กำหนดว่าจะเริ่มเมื่อไหร่ ต้องหารือร่วมกับตำรวจการจราจรด้วย

แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวเพิ่มว่า กำลังเจรจา รฟม.ให้พิจารณารื้อสร้างสะพานใหม่ โดยปิดการจราจรถาวร 6 เดือน จะใช้เวลาเร็วกว่าปิดชั่วคราวแล้วทยอยปรับปรุงใหม่

พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า ภาพรวมการจราจรพื้นที่กรุงเทพฯในปีนี้ยังไม่ติดหนักมาก แม้จะมีก่อสร้างรถไฟฟ้าที่กระทบผิวการจราจรถนนสายหลักหลายเส้นทาง เพราะมีวางแผนรับมือก่อสร้างและการกระจายตัวของกระแสรถ รวมถึงประชาชนมีการปรับตัวได้ในระดับหนึ่ง ทำให้กระแสรถลงตัว จราจรยังไหลลื่น ยกเว้นมีเหตุอื่น เช่น รถเสีย อุบัติเหตุ ที่มากระทบผิวจราจร

หวั่นซ้ำเติมลาดพร้าววิกฤตหนัก
พ.ต.ท.ทรงศักดิ์ จันทรพัชร รองผู้กำกับการจราจร สถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการหารือร่วมกันมาโดยตลอด ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะต้องสรุปตั้งแต่ปลายปี 2562 กำลังรอคำตอบจาก กทม.เรื่องรูปแบบของสะพาน

“ถ้าเป็นแบบโมดิฟายสะพานใหม่อย่างที่ รฟม.เสนอไป ต้องปิดการจราจรบนสะพานจาก 4 ช่องจราจรเหลือ 2 ช่องจราจรให้วิ่งสวนเลนกันได้ จะกระทบการจราจรช่วงขาออกมุ่งหน้าไปลำสาลีและนิด้า แต่ถ้าทุบแล้วสร้างใหม่คงจะกระทบต่อการจราจรหนัก จะติดพันไปถึงแยกลำสาลีที่ตอนนี้ก็หนักอยู่แล้วด้วย เพราะรับรถจากหลายทาง”

สายสีชมพูวุ่นหนัก
แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวอีกว่า ในส่วนของสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. ปัจจุบันยังสร้างช้าจากแผน 5-6% ความคืบหน้าโดยรวม 50.17% เป็นงานโยธา 51.96% งานระบบ 47.50% จะต้องสร้างเสร็จปลายปี 2563 เริ่มทดสอบระบบและเปิดเดินรถเดือน ต.ค. 2564 ตามสัญญา แต่มีแนวโน้มจะช้าจากแผน ติดเวนคืน ส่งมอบพื้นที่และขอเปลี่ยนแปลงรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

2 จุด คือย้ายสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ตามที่จังหวัดนนทบุรีให้ขยับจากเดิมอยู่หน้าอุทยานมกุฎรมยสราญออกไปอีก 337 เมตร ไปใกล้ห้างเอสพลานาด ไม่ให้บดบังทัศนียภาพ พร้อมสร้างทางเชื่อมสายสีม่วง และขยับสถานีนพรัตนราชธานี ที่ติดสะพานข้ามแยกสวนสยาม ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอนุมัติแล้ว รอเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา หากได้รับอนุมัติต้องเวนคืนที่ดินเพิ่ม

“สายสีชมพูจะหนักกว่าสายสีเหลือง ยังประเมินไม่ได้จะช้ากี่เดือนกี่ปี มีแนวโน้มจะหลุดเป้าเปิดบริการปี 2564”

ปัญหาความล่าช้าของสายสีชมพูกับสายสีเหลืองเป็นความผิดของรัฐที่ส่งมอบพื้นที่ให้ไม่ทัน จะต้องมีมาตรการเยียวยาผู้รับสัมปทานของทั้งสายสีเหลืองและสีชมพูต่อไป เช่น ขยายเวลาให้ ปรับการเปิดให้บริการเป็นเฟส ๆ หากผู้รับสัมปทานเห็นว่าพร้อมที่จะเดินรถได้ก่อน เพื่อจะมีรายได้จากค่าโดยสารมาชดเชย แต่ยังไม่ได้เงินสนับสนุนงานโยธาที่รัฐต้องจ่ายคืนให้ 10 ปี จนกว่าจะเปิดเดินรถตลอดสายก่อน

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า ขอให้เอกชนเร่งสร้างทั้งสายสีเหลืองและสีชมพูให้เต็มที่ก่อน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่สิ่งที่คาดไว้แต่แรก ทาง รฟม.ต้องเริ่มเวนคืนและก่อสร้างใหม่ ก็มีความเป็นไปได้จะปรับแผนให้ทยอยเปิดบริการเป็นเฟส ๆ